
เรื่องราวของรถยนต์คันแรกที่เข้ามาโลดแล่นบนถนนในเมืองไทย (ก่อนปี 1904 ซึ่งเป็นปีที่มีรถยนตร์หลวงคันแรก) ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเราก็ไม่เคยเห็นภาพเลยว่า รถยนต์คันแรกในสยามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ องค์สถาปนิกผู้สร้างวัดเบญจมพิตร กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย โดยลายพระหัตถ์เมื่อปี พ.ศ.2458 ว่า
รถยนต์คันแรกในประเทศไทย รูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน มีหลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่ เช่นเดียวกับรถยุคแรกๆ ส่วนใหญ่ เครื่องยนต์มีกำลังเพียงพอสำหรับวิ่งบนที่ราบ แต่ไม่เพียงพอจะขึ้นสะพานได้...
ครับ! ทุกคนก็รู้แต่เพียงเท่านี้ไม่มีภาพถ่าย ภาพวาด หรือหลักฐานอื่นๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าหน้าตาเจ้ารถคันแรกในสยามนั้นจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรกันแน่???
วันนี้เราจะมาทำตัวเป็นนักวิเคราะห์สมัครเล่นกันดีไหมครับ ลองมาดูกันซิว่าหน้าตาเจ้ารถคันแรกในเมืองสยามนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร จากลายพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสองท่านนั้น ท่านเริ่มต้นว่า รถยนต์คันแรกในประเทศไทย รูปร่างคล้ายรถบดถนน... ทีนี้เราจะมาดูกันว่า รถบดถนนในยุคต้นศตวรรษที่ 20 นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งก็น่าจะเป็นรถบดถนนที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเพราะข้อความในลายพระหัตถ์ส่วนหนึ่งระบุว่าใช้น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (เครึ่องยนต์สันดาปภายในเริ่มใช้ในรถยนต์ในราวปี 1923)

รถบดถนนยี่ห้อ Marshalls Steam Roller สร้างระหว่างปี 1896-1904

Fowler A4 สร้างประมาณปี 1900
รูปร่างคล้ายรถบดถนน ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 คือยานพาหนะ ที่มีปล่องควันขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องจักรไอน้ำในยุคนั้น ล้อของรถบดถนนในเวลานั้น ทำด้วยโลหะมีขนาดใหญ่ ในลายพระหัตถ์เล่าต่อมาอีกว่า
ล้อยางตัน ก็ทำให้เรานึกได้ว่าน่าจะเป็นยานพาหนะอีกชนิดหนึ่งซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่า Steam Wagon ใช้บรรทุกผู้โดยสาร และ Steam Truck หากใช้บรรทุกสิ่งของ ทั้งสองแบบนี้จะมีการติดตั้งเครื่องจักรไอน้ำในการขับเคลื่อนอยู่ 2 แบบ คือแบบที่เรียกว่า Overtype และแบบ Undertype หน้าตาจะต่างกันอย่างที่เห็นในภาพนี่แหละครับ แบบ Overtype นั้นจะมีหน้าตาคล้ายรถบดถนนมากกว่าครับโดยสังเกตุจากปล่องควันที่มีขนาดใหญ่ และทั้งสองแบบจะใช้ยางตันในยุคแรกๆ รวมทั้งไฟหน้าที่คล้ายเตาฟู่ด้วย

รถไอน้ำแบบ Over Type รถไอน้ำแบบ Under type

ไฟหน้าที่คล้ายเตาฟู่ ล้อยางตัน
ผู้ผลิต Steam Wagon ส่วนใหญ่จะอยู่ในอังกฤษ มีหลายยี่ห้อซึ่งเป็นที่นิยมได้แก่
Foden ก่อตั้งโดย Edwin Foden ในปี 1896 สร้างรถ Steam Wagon เป็นคันแรกขนาด 3 ตัน ความเร็ว 19 กม./ชม. เป็นแบบ Overtype (รูปร่างคล้ายรถบดถนน)
Sentinel ก่อตั้งในปี 1906 ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ที่นำเข้ามาในเมืองไทย ต้องก่อนปี 1904 และส่วนใหญ่ก็ผลิตแบบ UnderType
Yorkshire Patent Steam Wagon Co. สร้างรถไอน้ำคันแรกในปี 1901 แต่หม้อต้มน้ำของ Yorkshire มีลักษณะเฉพาะเรียกว่า Double-Ended Boiler เพื่อแก้ปัญหารถไม่มีกำลังเวลาไต่ขึ้นที่สูงซึ่ง Yorkshire ก็ไม่น่าจะใช่ รถไอน้ำคันแรกที่เข้ามาในบ้านเรา เพราะในบันทึกบอกไว้ว่า ไม่มีกำลังเพียงพอจะขึ้นสะพานได้ ส่วนผู้ผลิตรถไอน้ำแบรนด์เยอรมัน ก็มีอย่างเช่น Hanomag เริ่มสร้างรถไอน้ำให้ทหารเยอรมันในปี 1905 อีกแบรนด์หนึ่งคือ Henschel & Son สร้างรถไอน้ำประมาณปี 1900 เพียง 10 คัน เพื่อใช้ในกิจการรถไฟของตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น 2 บริษัทของเยอรมันคงจะไม่ใช่รถไอน้ำคันแรกที่เข้ามาเมืองไทย

Foden Yorkshire Steam Wagon

Sentinel Steam Wagon Garrett Steam Wagon
ข้อความในลายพระหัตถ์อีกตอนหนึ่งคือ มีหลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ข้อความตอนนี้ก็น่าจะเป็นรถไอน้ำที่เป็น Steam Wagon สำหรับโดยสารคือ ด้านหลังมีหลังคาผ้าใบ หรือหลังคาแข็งที่ไม่ได้ปิดมิดชิด ไม่น่าจะมีหน้าต่างด้านข้าง อาจจะประกอบมาจากโรงงานหรือนำรถไอน้ำแบบบรรทุกมาดัดแปลงทำหลังคาและที่นั่งด้านหลังในเมืองไทย ซึ่งโดยสรุปแล้ว หน้าตาของรถยนต์คันแรกในเมืองไทย หน้าตาน่าจะเป็นอย่างนี้ ถ้ายังไม่ได้ทำหลังคาและที่นั่ง

หรือเป็นอย่างนี้ ถ้าหากทำหลังคาเป็นปะรำ และมีที่นั่งด้านหลังเป็นสองแถว ผมขอฟันธงเลยครับว่าน่าจะเป็นคันสีฟ้านี้แหละครับ

ครับ จะผิดถูกอย่างไรก็คงต้องจุดธูปถามผู้คนในยุคนั้นกันละครับ ว่ารถยนต์คันแรกในสยามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ทีนี้ลองมาดูกันครับว่าในวงการ Diecast หรือรถเหล็กมีผู้ผลิตรถเหล็กในแนวรถไอน้ำกันบ้างหรือเปล่า ที่ผลิตมากแบบที่สุดก็น่าจะเป็นรถเหล็กในอนุกรม Models of Yesteryear ของ Matchbox


ส่วนของ lledo ก็พอมีบ้างครับ

ส่วนรถไอน้ำจำลองที่มีเครื่องยนต์ไอน้ำทำงานได้จริงๆ ก็น่าจะเป็นของ Mamod จากประเทศเยอรมัน


นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ อยู่บ้างนะครับ เช่น Corgi หรือแบรนด์ที่ไม่คุ้นเคยในบ้านเราคือ Vintage Glory
ครับ!ก็หวังว่าเรื่องราวของรถรถยนต์คันแรกในสยาม คงจะมีประโยชน์บ้างสำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวเก่าๆและผู้นิยมสะสมรถเหล็กในแนวย้อนยุค แล้วพบกันใหม่ครับ |