
วันนี้จะย้อนอดีตไปในยุคเริ่มต้นของการขนส่งมวลชนด้วยรถเหล็กพลังสีเขียวของจริงทั้งขาเข้าและขาออก ตอนขาออกนี่เป็นสีเขียวเข้มและกลิ่นแรงสักหน่อยนะครับ

รถเหล็กที่ว่านี่คือรถม้าปี 1820 Passenger Coach and Horses รถเหล็กรถเทียมม้ายุค 1820 สไตส์อังกฤษสีแดง-ดำ มีม้าโลหะ 4 ตัวสีขาว น้ำตาลอ่อน-เข้มและสีดำ มีผู้โดยสาร 4 คน คนขับกำลังหวดแส้และพนักงาน รปภ. กำลังเป่าแตรรวม 6 คน ล้อรถและช่วงล่างโลหะสีแดง สายพ่วงม้ายางสีดำ กระเป๋าสัมภาระอยู่บนหลังคาสีน้ำตาล รถเหล็กคันนี้ผลิตโดย matchbox toys ปี 1990 ความยาว 21 cm. หนัก 280 กรัม


รถม้าจริง Passenger Coach นับเป็นยานพาหนะโดยสารที่มีเรื่องราวน่าสนใจ กำเนิดเป็นครั้งแรกในปี 1784 โดย John Palmer สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เขาเป็นเจ้าของโรงละครที่เมือง Bath และเขาต้องการที่จะมีรถโดยสารที่จะเดินทางติดต่อระหว่างเมือง Bath กับลอนดอน Palmer ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวรัฐบาลอังกฤษในการทำให้มีรถม้าโดยสารระหว่างสองเมืองนี้และในขณะเดียวกันก็ใช้รถม้านี้ขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ด้วย จากนั้นก็ได้ขยายกิจการรถม้าโดยสารแบบนี้ ออกไปยังเมืองอื่นๆ ด้วย

หน้าตารถม้ายุคแรกๆ ตัวรถโดยสารมีสีแดง สีเลือดหมูและสีดำตามแบบสีของราชการอังกฤษในยุคนั้น ด้านหลังรถจะมี รปภ. ในชุดเสื้อคลุมสีแดงพร้อมแตรคอยเป่าให้สัญญานเตือน ที่นั่งโดยสารของรถในยุคแรกจะนั่งภายในตัวรถเท่านั้น ต่อมาในยุค 1800 รถม้าได้มีการเพิ่มที่นั่งโดยสารภายนอกและปรับปรุงระบบช่วงล่างให้มีความนุ่มนวลปลอดภัยขึ้น รวมทั้งเพิ่มตะเกียงให้แสงสว่างเพิ่มขึ้นด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุดของรถม้าก็คือ ม้านั่นเอง ม้า 4 ตัวจะเปลี่ยนกะทุกๆ 11-16 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดที่รถม้าแบบนี้ทำได้ก็คือ 16.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถครอบคลุมทางไกล 320 กิโลเมตร ภายใน 20 ชั่วโมง (ระหว่างลอนดอนและยอร์ค) การทำเวลาในการวิ่งรถม้ามีความแม่นยำเที่ยงตรงมากจนคนสามารถใช้แทนนาฬิกาได้เลยทีเดียว (ดูเหมือนว่าจะตรงเวลามากกว่าแอร์พอร์ตลิ้งค์ในบ้านเราเสียอีกครับ)
คุณลักษณะเฉพาะของรถม้ารุ่นนี้คือ ตัวรถยาว 3.25 เมตร, สูง 2.18 เมตร, ฐานล้อยาว 1.98 เมตร, เส้นผ่านศูนย์กลาง ล้อหลัง 1.37 เมตร, ล้อหน้า 1.06 เมตร, น้ำหนัก 900 กิโลกรัม
ครับ นั่นก็คือ บรรพบุรุษของรถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟใต้ดิน MRT ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งต่างก็ใช้พลังงานสีเขียวเช่นเดียวกันครับ |